เลขาธิการ คปภ. เผย ไทม์ไลน์ หลังตรวจพบว่าติดโควิด เมื่อวันที่ 15 ม.ค. เผยไม่ได้เดินห้างหรือทานอาหารที่ร้าน ไม่ทราบว่าติดโควิดจากที่ใด เว็บไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้ออกมาเปิดเผยคำแถลงการของ ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. หลังจากที่มีรายงานว่า ดร.สุทธิพล ติดโควิด-19 โดยคำแถลงการระบุว่า “ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้างสำนักงาน คปภ. และทุกความห่วงใย
ที่ได้ส่งกำลังใจมาให้ผมอย่างต่อเนื่อง และรู้สึกซาบซึ้งกับทุกความห่วงใยที่ทุกท่านมีให้ ซึ่งผมเพิ่งจะทราบว่าติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้ จึงขอแจ้งไทม์ไลน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดังนี้ วันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 ประชุมที่สำนักงาน คปภ. เนื่องจากมีความจำเป็น วันอังคารที่ 11 มกราคม 2565 บันทึกเทปสัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ที่สำนักงาน คปภ. ในช่วงบ่ายประชุมออนไลน์และเดินทางไปประชุมนอกสถานที่ (สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นตลอด)
วันพุธที่ 12 มกราคม 2565 ประชุมออนไลน์ที่สำนักงาน คปภ. (เช้า-บ่าย) (สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นตลอด) วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2565 ประชุมออนไลน์ (WFH) วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 ช่วงเช้าแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนบริเวณหน้าตึกศาลปกครองกลางและเข้าชี้แจงคดีที่ห้องพิจารณาคดี ศาลปกครองกลาง (สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นตลอด ยกเว้นช่วงรับประทานอาหารกลางวันที่ห้องอาหารศาลปกครองกลาง ซึ่งแยกมาทานโต๊ะเดี่ยว) วันเสาร์ที่ 15 มกราคม 2565 เริ่มมีอาการคล้ายๆ แพ้อากาศ คัดจมูก และมีไข้เล็กน้อย จึงตรวจ ATK (ช่วงบ่าย) ผลเป็นบวก จึงรีบไปตรวจ RT- PCR ที่โรงพยาบาล แล้วรีบกักตัวทันที และวันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2565 ทราบผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด จึงเข้ารับการรักษาและกักตัวแล้ว
สำหรับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิป้องกันโควิดนั้น ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 4 เป็น Moderna เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2565
ส่วนการรับประทานอาหารส่วนใหญ่เป็นที่บ้านหรือที่ห้องทำงาน ช่วงเวลาใน Timeline ไม่ได้ไปเดินห้าง ไม่ได้ไปซื้อของข้างนอก และไม่ได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารใดๆ จึงไม่ทราบว่าติดเชื้อโควิดจากที่ใด โดยผมได้ประสานแจ้งบุคคลที่ผมใกล้ชิด ได้พบและประชุมให้ทราบ พร้อมได้รายงานผู้บังคับบัญชาแล้ว สำหรับบุคลากรของสำนักงาน คปภ. ท่านใดที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเฝ้าระวัง ขอให้ปฏิบัติตนตามมาตรการและแนวทางที่สำนักงาน คปภ.กำหนดไว้ โดยท่านที่มีโอกาสเสี่ยงสูงหรือมีอาการขอให้ทำการตรวจเพื่อหาเชื้อ และให้ท่านรีบไปพบแพทย์พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องตามสายงาน หรือผู้บังคับบัญชาทราบผลการตรวจทันที นอกจากนี้การจัดประชุมต่างๆ ขอให้ทำผ่านทางระบบ Online เพื่อลดความแออัดของผู้เข้าร่วมประชุม รวมถึงขอให้ทุกท่านยึดถือมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส
โคโรนา (โควิด-19) ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆอย่างเคร่งครัด และขอให้ทุกท่านปฏิบัติตัวและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยของตัวท่าน เพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงครอบครัวของท่าน
โดยคุณหมอบอกว่าอาการที่ผมเป็นไม่รุนแรงเนื่องมาจากที่ผมได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว จึงขอเชิญชวนให้ ทุกท่านแม้ว่าจะไม่ประมาท ก็ควรไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อในกรณีที่ติดเชื้อ อาการจะได้ไม่รุนแรง
สธ. เผย รายละเอียดผู้เสียชีวิตโอมิครอน ย้ำกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนกระตุ้น
หมอโอภาส ออกมาเปิดเผย รายละเอียดผู้เสียชีวิตโอมิครอน รายแรก ย้ำกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนกระตุ้น เนื่องจากภูมิเริ่มลด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาเปิดเผยถึงกรณีที่พบ หญิงวัย 86 ปี เสียชีวิตจากโควิดโอมิครอนรายแรกของประเทศ ว่า ผู้ป่วยคนดังกล่าวเป็นผู้ป่วยติดเตียง และ ป่วยอัลไซเมอร์
ซึ่งถึงแม้ผู้ป่วยรายดังกล่าวจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบสองเข็มแล้ว ทางกระทรวง อีกครั้งว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ในเดือนตุลาคม ควรจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็มที่ 3 ได้แล้วใน เดือนมกราคมนี้ เพราะการรับวัคซีนแม้จะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ช่วยลดความรุนแรงของโรคและการป่วยหนักได้
นโยบายของ สธ.จึงเร่งกระตุ้นให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ามารับวัคซีนเข็มที่ 3 จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงเข้ามารับวัคซีนบูสเตอร์โดสตามกำหนด เมื่อถามต่อว่าหากพบว่าฉีดวัคซีนครบมา 4 เดือนแล้ว ยังติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิตได้ จะทราบอย่างไรว่าแต่ละคนภูมิต้านทานเหลือมากน้อยอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.จะมีการสุ่มตรวจเลือดประชาชนเป็นระยะ เพื่อดูข้อมูลและประกาศให้เข้ามารับบูสเตอร์โดส โดยเราพบว่าเมื่อรับเข็ม 2 ไปแล้ว 3 เดือน ภูมิจะเริ่มตก และเมื่อมี ‘โอมิครอน’ ที่ระบาดเร็ว ก็อาจต้องการภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย เราจึงประกาศว่าให้กลุ่มเสี่ยง 608 เข้ามารับวัคซีนเข็ม 3 หลังจากรับเข็ม 2 มาแล้ว 3 เดือน
“กลุ่ม 608 ขอให้มารับตามที่กำหนดได้เลย คือ ครบเข็ม 2 ในเดือน ต.ค.64 ให้มารับเข็ม 3 ได้เดือนนี้ ครบเข็ม 2 ตอนเดือน พ.ย.64 ก็ให้รับเดือนหน้า ครบเดือนธ.ค.64 ก็มารับในเดือนมี.ค.”
“เราคาดว่าหากทุกคนมารับวัคซีนตามกำหนด ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะเฉลี่ยที่วันละ 20 ราย ไม่น่าจะสูงกว่านี้ แต่คิดว่าจะอยู่ในระดับต่ำสิบหรือสิบเล็กน้อยอีกระยะหนึ่ง เพราะกลุ่มเสียชีวิตส่วนใหญ่ ยังอยู่ในกลุ่ม 608 และย้ำว่ากลุ่มนี้ แม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ต้องมารับเข็มกระตุ้น” นพ.โอภาส กล่าว